วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2555

ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความหมายของออซูเบล







ออซูเบล (Ausubel )
                   ออซูเบล  เป็นนักจิตวิทยาแนวปัญญานิยมที่แตกต่างจากเพียเจต์และบรูเนอร์ เพราะออซูเบลไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างทฤษฎีที่อธิบายการเรียนรู้ได้ทุกชนิด
                   ทฤษฎีของออซูเบลเป็นทฤษฎีที่หาหลักการอธิบายการเรียนรู้ที่เรียกว่า "Meaningful Verbal Learning" เท่านั้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงความรู้ที่ปรากฎในหนังสือที่โรงเรียนใช้กับความรู้เดิมที่อยู่ในสมองของผู้เรียนในโครงสร้างสติปัญญา(Cognitive Structure) หรือการสอนโดยวิธีการให้ข้อมูลข่าวสาร ด้วยถ้อยคำ    ทฤษฎีของออซูเบล เน้นความสำคัญของการเรียนรู้อย่างมีความเข้าใจและมีความหมาย การเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนได้เรียนรวมหรือเชื่อมโยง(Subsumme) สิ่งที่เรียนรู้ใหมหรือข้อมูลใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นความคิดรวบยอด(Concept) หรือความรู้ที่ได้รับใหม่ในโครงสร้างสติปัญญากับความรู้เดิมที่อยู่ในสมองของผู้เรียนอยู่แล้ว ทฤษฎีของออซูเบลบางครั้งเรียกว่า "Subsumption Theory"
การเรียนรู้อย่างมีความหมาย  นั่นคือ ผู้เรียนได้เชื่อมโยง(Subsumme) สิ่งที่จะต้องเรียนรู้ใหม่ หรือข้อมูลใหม่ กับความรู้เดิมที่มีมาก่อนที่มีในโครงสร้างในสติปัญญาของผู้เรียนมาแล้ว
ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความหมาย                                                                                                                               ออซูเบล ได้แบ่งการเรียนรู้ออกเป็น 4 ประเภทดังต่อไปนี้
1.             การเรียนรู้โดยการรับอย่างมีความหมาย
2.             การเรียนรู้โดยการรับแบบท่องจำโดยไม่คิดหรือแบบนกแก้วนกขุนทอง
3.             การเรียนรู้โดยการค้นพบอย่างมีความหมาย
4.               การเรียนรู้โดยการค้นพบแบบท่องจำโดยไม่คิด หรือแบบนกแก้วนกขุนทอง            ออซูเบลให้ความหมายการเรียนรู้อย่างมีความหมาย( Mearningful learning) ว่า เป็นการเรียนที่ผู้เรียนได้รับมาจากการที่ผู้สอน อธิบายสิ่งที่จะต้องเรียนรู้ให้ทราบและผู้เรียนรับฟังด้วยความเข้าใจ โดยผู้เรียนเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งที่เรียนรู้กับโครงสร้างพุทธิปัญญาที่ได้เก็บไว้ในความทรงจำ และจะสามารถนำมาใช้ในอนาคต ออซูเบลได้ชี้ให้เห็นว่าทฤษฎีนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะอธิบายเกี่ยวกับพุทธิปัญญา
                   ตัวแปรที่มีความสำคัญในการเรียนรู้ โดยการรับอย่างมีความหมาย
ออซูเบลได้บ่งว่า การเรียนรู้อย่างมีความหมายขึ้นอยู่กับตัวแปร 3 อย่าง ดังต่อไปนี้
                   1. สิ่ง (Materials) ที่จะต้องเรียนรู้จะต้องมีความหมาย ซึ่งหมายความว่าจะต้องเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กับสิ่งที่เคยเรียนรู้และเก็บไว้ในโครงสร้างพุทธิปัญญา
                   2. ผู้เรียนจะต้องมีประสบการณ์และมีความคิดที่จะเชื่อมโยงหรือจัดกลุ่มสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ให้สัมพันธ์กับความรู้หรือสิ่งที่เรียนรู้เก่า
                   3. ความตั้งใจของผู้เรียนและการที่ผู้เรียนมีความรู้ คิดที่จะเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ให้มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างพุทธิปัญญา ที่อยู่ในความทรงจำแล้ว
                   นอกจากตัวแปรทั้ง 3 อย่างดังกล่าว ออซูเบลกล่าวว่า การสอนจะต้องคำนึงถึงวัยของนักเรียนด้วย เพราะถ้าหากนักเรียนไม่พร้อมที่จะรับหรือรับโดยไม่เข้าใจ ก้อาจจะต้องใช้การท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทอง
ประเภทของการเรียนรู้โดยการรับอย่างมีความหมาย
                   ออซูเบลได้แบ่งการเรียนรู้อย่างมีความหมายออกเป็น 3 ประเภท คือ
                   1. Subordinate learning  เป็นการเรียนรู้โดยการรับอย่างมีความหมาย โดยมีวิธีการ 2 ประเภท คือ
                             1.1 Deriveration Subsumption   เป็นการเชื่อมโยงสิ่งที่จะต้องเรียนรู้ใหม่กับหลักการหรือกฎเกณฑ์ที่เคยเรียนมาแล้ว โดยการได้รับข้อมูลมาเพิ่ม เช่น มีคนบอก แล้วสามารถดูดซึมเข้าไปในโครงสร้างทางสติปัญญาที่มีอยู่แล้วอย่างมีความหมาย โดยไม่ต้องท่องจำ
                             1.2 Correlative subsumption  เป็นการเรียนรู้ที่มีความหมายเกิดจากการขยายความ หรือปรับโครงสร้างทางสติปัญญาที่มีมาก่อนให้สัมพันธ์กับสิ่งที่จะเรียนรู้ใหม่
                   2. Superordinate learning  เป็นการเรียนรู้โดยการอนุมาน โดยการจัดกลุ่มสิ่งที่เรียนใหม่เข้ากับความคิดรวบยอดที่กว้างและครอบคลุมความคิดยอดของสิ่งที่เรียนใหม่ เช่น สุนัข แมว หมู เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
                   3. Combinatorial learning เป็นการเรียนรู้หลักการ กฎเกณฑ์ต่างๆเชิงผสม ในวิชาคณิตศาสตร์ หรือ วิทยาศาสตร์ โดยการใช้เหตุผล หรือการสังเกต เช่นการเรียนรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างน้ำหนักกับระยะทางในการที่ทำให้เกิดความสมดุล
Advance organizer
                   ออซูเบลได้เสนอแนะเกี่ยวกับ Advance organizer : เป็นเทคนิคที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความหมายจากการสอนหรือบรรยายของครู โดยการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างความรู้ที่มีมาก่อนกับข้อมูลใหม่ หรือความคิดรวบยอดใหม่ ที่จะต้องเรียน จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมายที่ไม่ต้องท่องจำ หลักการทั่วไปที่นำมาใช้ คือ การจัด เรียบเรียง ข้อมูลข่าวสารที่ต้องการให้เรียนรู้ ออกเป็นหมวดหมู่   นำเสนอกรอบ หลักการกว้างๆ ก่อนที่จะให้เรียนรู้ในเรื่องใหม่   แบ่งบทเรียนเป็นหัวข้อที่สำคัญ และบอกให้ทราบเกี่ยวกับหัวข้อสำคัญที่เป็นความดิดรวบยอดใหม่ที่จะต้องเรียน
                   ออซูเบลถือว่า Advance Organizer มีความสำคัญมากเพราะเป็นวิธีการสร้างการเชื่อมช่องว่างระหว่างความรู้ที่ผู้เรียนได้รู้แล้ว(ความรู้เดิม)กับความรู้ใหม่ที่ได้รับ ที่จำเป็นจะต้อง เรียนรู้เพื่อผู้เรียนจะได้มีความเข้าใจเนื้อหาใหม่ได้ดีและจดจำได้ได้ดีขึ้น ฉะนั้นผู้สอนควรจะใช้เทคนิค Adv ance Organizer ช่วยผู้เรียนในการเรียนรู้ทั้งประเภทการรับอย่างมีความหมายและการค้นพบอย่างมีความหมาย
                   สรุปได้ว่า การเรียนรู้อย่างมีความหมาย (Mearningful learning) ของออซูเบล  เป็นทฤษฎีกลุ่มพุทธิปัญญา แต่จะแตกต่างจากทฤษฎีของ เพียเจต์ ที่เน้นความสำคัญของผู้เรียน และของบรูเนอร์ที่เน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้โดยการค้นพบด้วยตนเอง(Discovery)   สำหรับออซูเบลจะสนับสนุนทั้ง Discovery และ Expository technique ซึ่งเป็นการสอนที่ครูให้หลักเกณฑ์ และผลลัพธ์ ออซูเบลมีความเห็นว่าสำหรับเด็กโต (อายุเกิน11หรือ 12 ปี)นั้น การจัดการเรียนการสอนแบบ Expository technique น่าจะเหมาะสมกว่าเพราะเด็กวัยนี้สามารถเข้าใจเรื่องราว คำอธิบายต่างๆได้   แต่ควรเป็นการเรียนรู้ที่มีความหมาย โดยการเรียนรู้สิ่งใหม่ มีการเชื่อมโยงพื้นฐานความรู้เดิมที่มีมาก่อนกับสิ่งที่จะต้องเรียนรู้ใหม่ จากการวิจัยพบว่า วิธีนี้จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้เร็วและจำได้นาน ส่วนการเรียนรู้แบบ Discovery จะช่วยในการถ่ายโยงความรู้ได้ดี เพราะจะต้อง ค้นคว้า ทดลอง แก้ปัญหา หาคำตอบด้วยตนเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น